วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่(H1N1)อย่างใกล้ชิด (พ.1/2557)

กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่(H1N1)อย่างใกล้ชิด (พ.1/2557) พิมพ์
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันจันทร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 13:46 น.
นายทฤษดี  ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน เมื่อเชียงใหม่ 30 มกราคม 2557 พบทหารเกณฑ์เป็นโรคไข้หวัดนก H1N1 ชนิดใหม่เสียชีวิต การตายของพลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย อายุ 22 ปี ทหารในสังกัด ร.7 พ.1 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเทพปัญญา เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 และเสียชีวิตลง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 ม.ค 2557 จากการให้ข้อมูลของ นพ.นพพร นิวัฒนนันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพปัญญาและ    นพ.ธีรพัฒน์ วรวงษ์วิวัฒน์ แพทย์เจ้าของไข้ได้เข้าชี้แจงว่า ตอนแรกทางโรงพยาบาลรับคนไข้มารักษาต่อในสภาพใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว โดยเหนื่อยมากหายใจเองไม่ได้ จากเอ็กซเรย์ปอดก็อักเสบทั้งสองข้าง เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลตรวจวินิจฉัยยืนยันตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่H1N1 มิใช่โรคไข้หวัดนก ดังที่เป็นข่าว

จากข้อมูลดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่อาจมีโอกาสแพร่ระบาดมา ยังประเทศไทยได้ทางเป็ดอพยพ หรือนกธรรมชาติที่บินเข้ามาสู่ประเทศไทย หรือการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้ามาตามบริเวณแนวชายแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระ และซากของเป็ด นกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกให้เข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที และได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาใน ประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันทีและ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกัน           โรคไข้หวัดนก

ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายนอกและภายในตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล  (อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่โทร 0-8566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้ทำการฝังหรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่



--------------------------------------------

ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                             เผยแพร่ : เพ็ญศิริ  ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่ฯ สลก.

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

กรมปศุสัตว์ยืนยันยังไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

กรมปศุสัตว์ยืนยันยังไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยพิมพ์
เขียนโดย คุณพรสวรรค์ วิรัตน์เศรษฐสิน   
วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2013 เวลา 11:00 น.
นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ว่า พนักงานอาคารซีพีทาวเวอร์ ป่วยเป็นไข้หวัดนกนั้นจากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดพนักงานไม่ได้ลาป่วยมากกว่าปกติ คนที่ลาป่วยเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเอ เอช เอ็น โดยกระทรวงสาธารณสุข

ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ไปสอบสวนโรคไม่พบว่าการป่วยนั้นมีอาการเข้าได้กับไข้หวัดนกแต่อย่างใด กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดรวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะเข้า-ออก ได้แก่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันทีและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก

จากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ตามโครงการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกแบบบูรณาการของประเทศไทยครั้งที่ผ่านมาในเดือนมกราคม 2556 และ กรกฎาคม2556 เก็บตัวอย่างในสัตว์ปีกที่เลี้ยงปล่อยบริเวณบ้านในพื้นที่เสี่ยง และเป็ดไล่ทุ่ง จำนวนทั้งสิ้น 35,003 ตัวอย่าง ให้ผลเป็นลบทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นและยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันโรค กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดให้ดำเนินกิจกรรมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยสั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ จัดเจ้าหน้าที่และเครือข่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกหลังคาเรือน และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดนในรัศมี 10 กิโลเมตร โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556–กุมภาพันธ์ 2557หากพบว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติสงสัยโรคไข้หวัดนกให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอและสาธารณสุขอำเภอ เพื่อดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวัง และควบคุมโรคตามที่กำหนดไว้ต่อไป

ท้ายนี้กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายนอกและภายในตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่โทร 0-8566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้ทำการฝังหรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก www.dld.go.th/dcontrol อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด