วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

กรมปศุสัตว์พร้อมป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสุกรและสัตว์ปีก

กรมปศุสัตว์พร้อมป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสุกรและสัตว์ปีก(27/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2013 เวลา 10:16 น.
กรมปศุสัตว์ จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานทางคลินิกของโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เป็นไข้หวัดงดสัมผัสสัตว์ และเฝ้าระวังสุกร และสัตว์ปีก หากพบสัตว์แสดงอาการผิดปกติ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หอบ มีน้ำมูก  หรือ แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที
           นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน ว่าพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H3N2 ครั้งรุนแรงในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 20 ราย และมีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างคนและสัตว์ และเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้
           อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้เฝ้าระวัง และติดตามการเกิดโรคสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานทางคลินิกของโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เพื่อกำหนดแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ภายในฟาร์มสุกร นอกจากนี้ยังได้สั่งการไปยังปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้ประชาสัมพันธ์เกษตรกรรายย่อยได้ระมัดระวังมากขึ้น เช่น ไม่ให้ผู้ที่มีอาการป่วย เป็นไข้หวัด เช่น ไอ หรือจาม หลีกเลี่ยงเข้าฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกร และสัตว์ปีก  โดยเด็ดขาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างคนและสัตว์ รวมทั้งเร่งดำเนินการปรับระบบการเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก ของเกษตรกรรายย่อยเพื่อไม่ให้เลี้ยงสุกรหรือสัตว์ปีกปะปนกับสัตว์ชนิดอื่น และรณรงค์ทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในสถานที่เลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ  จากมาตรการที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการมาแล้วนั้น จึงถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสัตว์สู่คน และจากคนสู่สัตว์ ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ได้
           ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เน้นย้ำให้เกษตรกรรักษาสุขภาพ หากมีอาการป่วยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ และหากพบสัตว์แสดงอาการผิดปกติ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หอบ มีน้ำมูก  หรือ แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 085-6609906.
                                                                                   ......................................
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ