วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (5/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2012 เวลา 11:37 น.
กรมปศุสัตว์ไทยเป็นต้นแบบแก่ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการใช้ระบบ e-service ในการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าปศุสัตว์ ตามมาตรฐานสากล
                นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้มีความร่วมมือด้านการพัฒนาการประสานงานด่านกักกันสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมปศุสัตว์ไทยเป็นประเทศแรกในประเทศสามาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่นำระบบ e-service และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์มาใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าปศุสัตว์ได้
                จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีโรคระบาดสัตว์เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพสัตว์ และการผลผลิตของสัตว์ของประเทศนั้นๆ ดังนั้น เมื่อเกิดโรคระบาดสัตว์เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการสูญเสียปศุสัตว์ที่เลี้ยง ผลผลิตตกต่ำ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา หรือการควบคุมโรค สูญเสียโอกาสในการส่งสัตว์ไปจำหน่ายยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ อย่างเช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกร โรครินเดอร์เปสต์ โรคไข้หวัดนก เป็นต้น
                การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามพรมแดนนั้น จะต้องอาศัยมาตรการหลายประการ เช่น การทำวัคซีนเพื่อป้องกันควบคุมโรค การเฝ้าระวังและทดสอบโรค ระบบเตือนภัย และการป้องกันโรคล่วงหน้า การควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ ดั้งนั้นประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวม 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน (มณฑลยูนนาน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพรมแดนอาจก่อให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ได้อยู่เสมอ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคสัตว์ในสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงการพัฒนาการเคลื่อนย้ายสัตว์ในภูมิภาคนี้ กรมปศุสัตว์ และสำนักการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการทำเครื่องหมายเลขทะเบียนสัตว์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านด่านกักกันสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านกักกันสัตว์ได้มีโอกาสในการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ และวางมาตรการการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อที่จะสามารถนำกลับไปใช้ในการพัฒนาด่านกักกันสัตว์ของแต่ละประเทศให้พัฒนาทัดเทียมกันต่อไป รวมทั้งประเทศไทยได้ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ได้นำระบบ e-service มาใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ในประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าปศุสัตว์อีกด้วย.
......................................................................................
ข้อมูล : กองปศุสัตว์ต่างประเทศ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กรมปศุสัตว์ เตือนระวังโรคสัตว์ในช่วงต้นหนาว(4/2556)

กรมปศุสัตว์ เตือนระวังโรคสัตว์ในช่วงต้นหนาว(4/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2012 เวลา 10:27 น.
กรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรระวังโรคสัตว์ในหน้าหนาว หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ รักษาความสะอาดในสถานที่เลี้ยง ให้มีอากาศถ่ายเทและป้องกันลม ฝนได้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันทีที่พบสัตว์ป่วย/ตาย
          นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวนและในช่วงนี้มีอุณหภูมิลดต่ำลงในหลายพื้นที่ ประกอบกับมีฝนตกในบางพื้นที่ด้วย ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรระวังโรคสัตว์ของตนเองและสัตว์ในหมู่บ้านในฤดูหนาวที่กำลังมาถึง
          สำหรับโรคในโค กระบือ ที่ควรระวัง ได้แก่ โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย เป็นโรคที่มีความรุนแรงในกระบือ สัตว์จะหายใจหอบ มีเสียงดัง คอ หรือหน้าบวมแข็ง ตายอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวม นอกจากนี้ยังมีโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งสามารถติดต่อ และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด จากการที่สัตว์กินเอาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่กับอาหารและน้ำหรือหญ้า หรือหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่กับอากาศในบริเวณที่มีสัตว์ป่วยเข้าไปสัตว์จะแสดงอาการมีไข้สูง เบื่ออาหาร น้ำลายไหล มีแผลที่ลิ้น เหงือก และร่องกีบ บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต อาจทำให้สัตว์ตายได้ ทั้งโรคคอบวมและปากเท้าเปื่อย กรมปศุสัตว์มีวัคซีนให้บริการเกษตรกรตลอดเวลา
          โรคในสุกร ให้ระวังโรคปากและเท้าเปื่อยเช่นเดียวกับในโค กระบือ และโรคที่อาจพบการระบาดได้ในช่วงนี้ คือโรค PRRS ซึ่งเป็นโรคในสุกรไม่ติดต่อถึงคน แต่เชื้ออาจจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว สุกรที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หอบ ไอ ผิวหนังเป็นปื้นแดง ไม่มีแรง หากสุกรท้องจะแท้ง หรือลูกตายแรกคลอด หรืออ่อนแอ แคระแกร็น โตช้า จึงขอให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้มงวดการป้องกันโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสุกร โดยแยกเลี้ยงสุกรใหม่เพื่อดูอาการก่อนนำเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 1 เดือน ต้องทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมากับยานพาหนะและคนก่อนเข้าสถานที่เลี้ยงสุกร ด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง และในช่วงที่มีโรคนี้ระบาดในพื้นที่ ควรงดการนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่และให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด
         สำหรับผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ไก่ชน และไก่พื้นเมือง  ควรเฝ้าระวัง ดูแล สุขภาพสัตว์ปีกของตนเองอย่างใกล้ชิด   ให้สัตว์ปีกนอนในที่แห้งหรือในเล้าหรือโรงเรือน ที่มีหลังคาและผนังป้องกันลม ฝนได้ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยให้สัตว์ปีกแข็งแรง ต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะตรวจเยี่ยมเกษตรกรอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ปีก และให้ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่ถูกต้อง
          ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ ฝากถึงประชาชนว่า การประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ให้รอบคอบ โดยเฉพาะด้านการจัดการ การควบคุม ป้องกันโรค และการตลาด หากสนใจขอข้อมูล หรือคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทั่วประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.
…………………………………………….
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

ทำอย่างไรเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรถึงจะอยู่รอดได้ (2/2556)

ทำอย่างไรเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรถึงจะอยู่รอดได้ (2/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2012 เวลา 13:05 น.
 นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ใฝ่รู้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ หาช่องทางการตลาดใหม่ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมูลและน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอด และต้องพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับทุกสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้
            ในสภาวะการปัจจุบัน ราคาสุกรมีชีวิตตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วันที่ 17 ตุลาคม 2555 เฉลี่ยทั่วประเทศกิโลกรัมละ 53 บาท และสุกรมีชีวิตที่หน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 48 – 51 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงคิดเป็นร้อยละ 15.41 ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 58 – 60 บาท เนื่องจากเกษตรกรขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรมากกว่าความต้องการบริโภค กรมปศุสัตว์ จึงแนะนำให้เกษตรกรควรปรับตัวดังนี้
เกษตรกรควรปรับการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลและเทศกาล เช่น เทศกาลกินเจ และปิดภาคเรียน ต้องปรับปริมาณการผลิตลดลงกว่าภาวะปกติ ต้องมีความใฝ่รู้ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาพันธุกรรมสุกรที่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงในแต่พื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด มีฐานข้อมูลรองรับเรื่องการผลิตลูก การขุน ระยะเวลา และปริมาณการใช้อาหาร เพื่อวางแผนธุรกิจอย่างชัดเจน (ใช้พันธุกรรมสุกรจาก สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์) ใช้วัตถุดิบราคาถูกที่มีในท้องถิ่นหรือที่หาได้มาทดแทนวัตถุดิบราคาแพงในการผลิตอาหารสุกรเพื่อลดต้นทุน และหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของอาหารสุกร (ได้รับคำแนะนำ และองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่ กรมปศุสัตว์) มีการใช้ประโยชน์จากมูลสุกร โดยผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและเป็นปุ๋ยกากตะกอนที่ได้รับจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ต้องมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายกันทำกิจกรรมต่างๆในวงจรการผลิตและจำหน่ายสุกร รวมถึงมีการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยผู้นำกลุ่มต้องเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง มีจิตใจดี มีการแบ่งปัน และเสียสละเพื่อสมาชิกกลุ่ม
การเพิ่มทักษะเพื่อหาช่องทางธุรกิจและการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่แน่นอน นอกเหนือจากการขายลูกสุกรขุน สุกรขุน สุกรพันธุ์ เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม กับราคาเนื้อสุกรหน้าเขียงแตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ค้าได้กำไรมาก แต่ผู้เลี้ยงไม่ได้กำไร เกษตรกรจึงควรหาช่องทางเปิดเขียงจำหน่าย   เนื้อสุกรชำแหละผ่าซีกและชำแหละเป็นชิ้นส่วนเนื้อสุกรเอง รวมถึงการผลิตสินค้าจากเนื้อสุกร จำหน่าย เพื่อความอยู่รอด ---------------------------
ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์
...