วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วงจรชีวิตของเห็บ (บทความ...../2556)

วงจรชีวิตของเห็บ (บทความ...../2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันพุธที่ 17 เมษายน 2013 เวลา 11:57 น.
เห็บสุนัข มี ลักษณะแตกต่างจากแมลงโดยทั่วไป คือเห็บเต็มวัยมี 8 ขา เห็บจะไม่มีหัวมีแต่ส่วนที่เป็นปากยื่นออกมาให้เห็นเท่านั้น ขนาดของเห็บโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เห็บจะใช้ส่วนปากของมันแทงเข้าใต้ผิวหนังและเกาะติดแน่นบนตัวสุนัขแล้วดูดกินเลือดเป็นอาหาร เห็บตัวเมียซึ่งได้รับการผสมพันธุ์จากเห็บตัวผู้บนตัวสุนัข แล้วจะดูดเลือดจนตัวเป่งจนขยายตัวเต็มที่อาจมีขนาดถึง 12 มิลลิเมตร มองดูคล้ายเมล็ดลูกหยี เมื่อมันจะวางไข่ มันจะถอนส่วนปากออกจากผิวหนัง หล่นจากตัวสุนัขแล้วไปหาที่วางไข่ หลังจากตัวเมียวางไข่แล้วก็จะแห้งตาย และก่อนที่เห็บจะออกจากตัวสุนัขทุกครั้งเห็บจะดูดกินเลือดจนตัวเป่งเต็มที่ก่อนเสมอ

เห็บมีวงจรชีวิต 4 ระยะ ระยะแรกคือไข่ ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียวซึ่งจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน ไข่ทั้งหมดจะรวมอยู่กันเป็นกอง ๆ ประมาณ 2,000 ถึง 4,000 ฟอง จากนั้นตัวอ่อนจะมีการออกจากตัวสุนัข 3 ครั้ง เพื่อลอกคราบ โดยสามารถอาศัยอยู่ตามพื้นบ้าน ผนัง มุมกรงสุนัข ตลอดจนสนามหญ้าที่สุนัขเดินผ่าน แล้วลงมาวางไข่นอกตัวสุนัข ไข่ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะมีเพียง 6 ขาเท่านั้น เคลื่อนที่ได้ไวมาก ตัวอ่อนนี้จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขอย่างน้อย 2 -3 วัน เมื่ออิ่มแล้วจะหล่นจากตัวสุนัข ไปหาที่ลอกคราบ กลายเป็นตัวกลางวัย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนอย่างเห็นได้ชัดและมี 8 ขา ตัวกลางวัยนี้จะกินเลือดบนตัวสุนัขอีก และจะหล่นลงสู่พื้นเมื่อกินอิ่มแล้วเช่นกัน
จากนั้นจะลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะต้องขึ้นบนตัวสุนัขอีกเพื่อดูดเลือดและผสมพันธุ์ต่อไป วงจรชีวิตของเห็บชนิดนี้จะ สมบูรณ์ได้ในเวลา ประมาณ 45-50 วัน แล้วแต่อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เห็บแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก ถ้าเจ้าของสุนัข ไม่เอาใจใส่สุนัข ปล่อยให้มีเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายในบ้าน จะพบเห็บในปริมาณมากจนน่าตกใจ สุนัขอาจตายจากเห็บ จาการเสียเลือดทำให้ผอม และอ่อนเพลียแล้ว เห็บยังสามารถนำโรคร้ายแรง อื่นๆ มาให้สุนัขอีกด้วย

คนส่วนใหญ่เมื่อจับเห็บจากตัวสุนัขได้มักจะชอบบี้ให้ตาย นั่นจะเป็นการทำให้ไข่ของเห็บแพร่กระจายได้รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

ปัญหาและอันตรายที่เกิดจากเห็บ

1. สูญเสียเลือดอย่างเรื้อรัง และเกิดสภาวะโลหิตจางเนื่องจากทุกระยะของเห็บยกเว้นไข่จะดูดกินเลือดสุนัขนั่นเอง

2.  เกิดบาดแผลบนผิวหนังของสุนัข ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สภาวะผิวหนังติดเชื้อเป็นหนอง
3.  ก่อให้เกิดความรำคาญและอาการคัน เนื่องจากน้ำลายเห็บ ทำให้สุนัขเกาและเกิดแผลตามมาได้
4.  การติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด
     4.1  โรคไข้เห็บ (Babesiosis)
     4.2  Ehrlichiosis
     4.3  Hepatozoonosis

5.  ทำให้เกิดอัมพาตเนื่องจากเห็บ (Ticks paralysis)
-2-


การควบคุมและกำจัด

1.  การควบคุมโดยการใช้สารเคมี
2.  การควบคุมโดยชีววิธี
3.  การควบคุมแบบผสมผสาน
4.  การควบคุมโดยการใช้วัคซีน
ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการควบคุมโดยการใช้สารเคมีเท่านั้น เนื่องจากอีก 3 วิธีที่เหลือยังไม่เป็นที่นิยมและอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง
รูปแบบของการใช้สารเคมีในการกำจัดเห็บ

1. แชมพูกำจัดเห็บหมัด ประกอบไปด้วย แชมพูฟอกและทำความสะอาดตัวสุนัข ซึ่งจะมีส่วนของสารเคมีหรือสารสกัดจากธรรมชาติที่มีผลในการกำจัดเห็บหมัด ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เห็บหลุดจากตัวสุนัขชั่วคราว การอาบต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนล้างออก
2. แป้งโรยตัว ซึ่งผู้ผลิตมักแนะนำให้โรยตัวหลังอาบน้ำ แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะโรยตัวก่อนการอาบน้ำมากกว่า เพื่อขจัดสารเคมีออกจากตัวสุนัขก่อนที่สุนัขจะเลียแล้วก่อให้เกิดความเป็นพิษได้
3.  สเปรย์ ใช้สารเคมีเจือจางพ่นลงบนตัวสุนัขโดยเฉพาะบริเวณที่เห็บเกาะ มีผลทำให้เห็บตายได้

4.  สารเคมีเข้มข้นชนิดผงหรือสารละลาย ที่ใช้ผสมน้ำเพื่อราดตัว จุ่มตัว หรืออาบตัวสุนัขเพื่อฆ่าเห็บและหมัด เหา สุนัขได้

5.  กลุ่มเวชภัณฑ์ชนิดฉีด มีฤทธิ์ทำให้เห็บเกิดอัมพาตจนตายได้

6.  กลุ่มสารเคมีหยดผิวหนัง (Spot on) สารเคมีจะคงตัวอยู่ในชั้นไขมันใต้ผิวหนังในช่วงเวลาหนึ่ง มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บหมัด
7.  ปลอกคอกันเห็บหมัด (Collars)
วิธีการควบคุมเห็บที่ถูกต้อง

เพื่อให้การควบคุมเห็บมีประสิทธิภาพสูง จำเป็นต้องมีการควบคุมเห็บพร้อมกันทั้ง 2 ส่วน คือ
1.   การควบคุมบนตัวสุนัข
2.   การควบคุมภายนอกตัวสุนัข หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย โดยการพ่นสารเคมีกำจัดเห็บตามบริเวณซอกกรง บริเวณที่สุนัขนอน สนามหญ้า โดยใช้เครื่องสเปรย์คันโยกหรือฝักบัวรดน้ำต้นไม้
หลักในการควบคุมเห็บสุนัขให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ อาจสรุปได้ดังนี้

1.   เลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง และเห็บไม่ดื้อต่อสารชนิดนั้น
2.   มีการควบคุมเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายนอกตัวสุนัข
3.   เลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
4.   ใช้สารเคมีในขนาดที่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในฉลากกำกับสารเคมี
5.   ทำการควบคุมเห็บในสุนัขทุกตัวที่เลี้ยงอยู่รวมกัน หรือใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
6.   สามารถใช้รูปแบบการควบคุมเห็บบนตัวสุนัขได้มากกว่า 1 วิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
คัดลอก ดัดแปลง และเรียบเรียงจากเอกสารการประกวดสุนัข 2545       “เห็บสุนัขและการควบคุม” ของ รศ. น.สพ. ดร.อาคม  สังข์วรานนท์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

--------------------------------------------
ข้อมูล/ภาพประกอบ  :  สพ.ญ.ปราณี  พาณิชย์พงษ์  สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์                                   เผยแพร่ : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น