วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำอย่างไรเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรถึงจะอยู่รอดได้ (2/2556)

ทำอย่างไรเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรถึงจะอยู่รอดได้ (2/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2012 เวลา 13:05 น.
 นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ใฝ่รู้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ หาช่องทางการตลาดใหม่ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมูลและน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอด และต้องพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับทุกสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้
            ในสภาวะการปัจจุบัน ราคาสุกรมีชีวิตตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วันที่ 17 ตุลาคม 2555 เฉลี่ยทั่วประเทศกิโลกรัมละ 53 บาท และสุกรมีชีวิตที่หน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 48 – 51 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงคิดเป็นร้อยละ 15.41 ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 58 – 60 บาท เนื่องจากเกษตรกรขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรมากกว่าความต้องการบริโภค กรมปศุสัตว์ จึงแนะนำให้เกษตรกรควรปรับตัวดังนี้
เกษตรกรควรปรับการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลและเทศกาล เช่น เทศกาลกินเจ และปิดภาคเรียน ต้องปรับปริมาณการผลิตลดลงกว่าภาวะปกติ ต้องมีความใฝ่รู้ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาพันธุกรรมสุกรที่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงในแต่พื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด มีฐานข้อมูลรองรับเรื่องการผลิตลูก การขุน ระยะเวลา และปริมาณการใช้อาหาร เพื่อวางแผนธุรกิจอย่างชัดเจน (ใช้พันธุกรรมสุกรจาก สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์) ใช้วัตถุดิบราคาถูกที่มีในท้องถิ่นหรือที่หาได้มาทดแทนวัตถุดิบราคาแพงในการผลิตอาหารสุกรเพื่อลดต้นทุน และหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของอาหารสุกร (ได้รับคำแนะนำ และองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่ กรมปศุสัตว์) มีการใช้ประโยชน์จากมูลสุกร โดยผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและเป็นปุ๋ยกากตะกอนที่ได้รับจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ต้องมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายกันทำกิจกรรมต่างๆในวงจรการผลิตและจำหน่ายสุกร รวมถึงมีการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยผู้นำกลุ่มต้องเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง มีจิตใจดี มีการแบ่งปัน และเสียสละเพื่อสมาชิกกลุ่ม
การเพิ่มทักษะเพื่อหาช่องทางธุรกิจและการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่แน่นอน นอกเหนือจากการขายลูกสุกรขุน สุกรขุน สุกรพันธุ์ เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม กับราคาเนื้อสุกรหน้าเขียงแตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ค้าได้กำไรมาก แต่ผู้เลี้ยงไม่ได้กำไร เกษตรกรจึงควรหาช่องทางเปิดเขียงจำหน่าย   เนื้อสุกรชำแหละผ่าซีกและชำแหละเป็นชิ้นส่วนเนื้อสุกรเอง รวมถึงการผลิตสินค้าจากเนื้อสุกร จำหน่าย เพื่อความอยู่รอด ---------------------------
ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์
...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น