วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การนำเข้าสัตว์และซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร

การนำเข้าสัตว์และซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (บทความที่2/2556)

อีเมล พิมพ์ PDF
          ปัจจุบันเราจะได้ยินข่าวการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น และหลายคนงดกินเนื้อสัตว์ เนื่องจากวิตกว่าจะรับเชื้อจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งโรคระบาดเหล่านั้นมีทั้งที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ และจากสัตว์สู่คน เช่นโรคไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า โรคแอนแทรกซ์ โรควัวบ้า โรคปากและเท้าเปื่อย ฯลฯ แม้ในประเทศที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างหลายประเทศในแถบยุโรป เมื่อเกิดโรคระบาดสัตว์ขึ้น เช่น โรควัวบ้าโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ก็ยังไม่สามารถเข้าควบคุมและป้องกันโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจปีละนับหลายล้านบาท
                          วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด ก็คือ การจัดตั้งหน่วยดูแลและควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์เข้า – ออกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรค
                          กรมปศุสัตว์ โดยสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายและกักกันสัตว์-ซากสัตว์ เข้า-ออกระหว่างประเทศ โดยถือเป็นด่านปราการสำคัญในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ระหว่างประเทศ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการนำโรคสัตว์ต่างๆ มาแพร่ระบาดในประเทศได้
                          ดังนั้น การนำเข้าสัตว์และซากสัตว์เข้าสู่ประเทศไทย จึงมีจำเป็นที่กรมปศุสัตว์จะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยมีขั้นตอนการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรดังนี้

การดำเนินการล่วงหน้า

                        ติดต่อ สอบถาม ขอคำแนะนำเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศประจำท่าเข้านั้น เนื่องจากสัตว์นำเข้าต้องผ่านการกักตรวจจากสัตวแพทย์ด่านกักกันระหว่างประเทศ ณ คอกกักกันสัตว์ของด่าน หากผู้นำเข้าประสงค์จะกักกันสัตว์ในพื้นที่ของตนเอง ต้องจัดเตรียมสถานกักกันสัตว์ให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ตรวจรับรองความเหมาะสมให้เรียบร้อยก่อน
                        การยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้า ต้องดำเนินการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และควรติดต่อด้วยตนเองโดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด พร้อมแนบสำเนาหลักฐานบัตรประจำตัวมาด้วยทุกครั้ง
                        กรมปศุสัตว์จะตรวจสอบสภาวะโรคของประเทศต้นทางจนมั่นใจว่าปลอดภัยจริง จึงออกหนังสืออนุมัติในหลักการอนุญาตนำสัตว์เข้าราชอาณาจักรฉบับอังกฤษ (Import Permit) พร้อมกำหนดเงื่อนไข (Requirement) การนำเข้าของสัตว์นั้น ซึ่งลงนามโดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
                        ส่วนผู้ขออนุญาตเมื่อได้รับเอกสารหนังสืออนุมัติในการอนุญาตนำเข้าฯ ของกรมปศุสัตว์แล้วให้นำส่งไปยังประเทศต้นทางทันที เพื่อประเทศต้นทางจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไข (Requirement) ที่กรมปศุสัตว์กำหนด
                        ผู้ขออนุญาตต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ ณ ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศ ประจำท่าเข้านั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน ก่อนสัตว์เดินทางมาถึง เพื่อสัตวแพทย์จะได้เตรียมการอำนวยความสะดวกตรวจสอบสัตว์ ทำลายเชื้อโรคพาหนะบรรทุกสัตว์จัดเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ควบคุมรถบรรทุกสัตว์ไปยังสถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด และออกเอกสารใบแจ้งอนุมัตินำเข้า (ร.๖) ให้ผู้ขออนุญาตนำไปติดต่อดำเนินการทางพิธีศุลกากรที่ด่านศุลกากรประจำท่าเข้านั้น
                        สัตว์ที่นำเข้าต้องมีเอกสารหนังสือรับรองสุขภาพ (Health Certificate) เป็นภาษาอังกฤษ ออกให้โดยสัตวแพทย์รัฐบาลผู้มีอำนาจเต็มจากประเทศต้นทาง ถ้าเอกสารรับรองเป็นภาษาอื่น ให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต้นทาง หรือเจ้าหน้าที่สถานทูตประเทศต้นทางประจำเทศไทย หนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ต้องตามเงื่อนไขการนำเข้าที่กรมปศุสัตว์กำหนดทุกประการ ถ้ามีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนด จะไม่อนุญาตให้นำสัตว์นั้นเข้าประเทศไทย
                       สัตว์ที่นำเข้ามาทำพันธุ์ ต้องมีเอกสารหนังสือรับรองพันธุ์ประวัติ (Pedigree) แนบมาด้วยทุกครั้ง
                        ผู้นำเข้าต้องเตรียมเอกสารแสดงราคาสัตว์ มอบให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกครั้งที่นำสัตว์เข้าราชอาณาจักร

การดำเนินการช่วงนำเข้า

                        ผู้นำเข้าสัตว์ หรือ ซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมนำเข้าตามที่กำหนดกฎกระทรวงฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๒
                        เมื่อเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ตรวจสอบเอกสารครบถ้วนแล้วจะออกใบอนุญาตนำเข้า (ร.๗) ให้ผู้ขออนุญาตนำเข้า เพื่อใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า และนำสัตว์ไปกักตรวจ ณ สถานกักกันสัตว์ที่กำหนด

การดำเนินการหลังการนำเข้า

                        สัตว์จะถูกนำไปกักดูอาการ ณ สถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ในระยะเวลาที่นักวิชาการสัตวแพทย์จะพิจารณา เพื่อให้นักวิชาการสัตวแพทย์เก็บตัวอย่างต่างๆ จากสัตว์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าปลอดโรคและผ่านพ้นระยะเวลาการกักกันแล้ว จึงจะอนุญาตเคลื่อนย้ายออกจากสถานกักกันสัตว์ได้ โดยเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์จะออกใบอนุญาตนำเข้า มอบให้ผู้นำเข้าไว้เป็นหลักฐาน
                        หากสัตว์ป่วย หรือตาย ขณะเดินทางมาถึง หรือระหว่างกักกันดูอาการ เจ้าของสัตว์ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์ทันที เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการเพื่อชันสูตรโรคต่อไป
                        ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการในการป้องกันและนำสัตว์ และซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร โดยมีด่านกักกันสัตว์ในประเทศ และระหว่างประเทศของกรมปศุสัตว์ ทั่วประเทศที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้โรคระบาดจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศได้ อันจะส่งผลเสียหายกับประชาชนและปศุสัตว์ในประเทศไทยได้
…………………………………………
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
เรียบเรียงโดย : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรมปศุสัตว์เดินหน้าควบคุมโรคไข้หวัดนกช่วงอากาศแปรปรวน โดยพยายามใช้มาตรการต่างๆ ทุกวิถีทางที่จะสามารถสกัดกั้นไม่ให้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

กรมปศุสัตว์เดินหน้าควบคุมโรคไข้หวัดนกช่วงอากาศแปรปรวน โดยพยายามใช้มาตรการต่างๆ ทุกวิถีทางที่จะสามารถสกัดกั้นไม่ให้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2012 เวลา 13:44 น.
           นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้สัตว์เจ็บป่วยจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกที่อาจเกิดขึ้นในสัตว์ปีก จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกหน่วยดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างจริงจัง โดยพยายามใช้มาตรการต่างๆ ทุกวิถีทางที่จะสามารถสกัดกั้นไม่ให้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
          กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ มากมายในการควบคุม ป้องกัน ไม่ให้ประเทศไทยเกิดโรคไข้หวัดนก เช่น การทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ต่างๆ ทั้งไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง และเป็ด จัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ (X-Ray) โดยดำเนินการสำรวจจำนวนสัตว์ปีก เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกด้วยอาการทางคลินิก ทุกพื้นที่และทุกชนิดสัตว์ และการสุ่มตรวจอุจจาระสัตว์ปีก ไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง รวมทั้งเป็ดไล่ทุ่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก
            ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ทุกท่าน หากพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายอย่างผิดปกติสามารถแจ้งเบาะแสให้กับ อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ของท่าน
----------------------------------------
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ กรมปศุสัตว์

 

กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จสร้าง “ไก่ชีท่าพระ” ไก่พื้นเมืองไทยสายพันธุ์แท้

กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จสร้าง “ไก่ชีท่าพระ” ไก่พื้นเมืองไทยสายพันธุ์แท้ (11/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณพรสวรรค์ วิรัตน์เศรษฐสิน   
วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน 2012 เวลา 13:21 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผย กรมปศุสัตว์ประสบความสำเร็จในการสร้างไก่พื้นเมืองไทย สายพันธุ์แท้ "ไก่ชีท่าพระ" หลังใช้เวลาวิจัย และพัฒนากว่า 10 ปี โดยมีลักษณะเด่นให้สมรรถภาพการผลิตที่สูง มีขนสีขาวทั้งตัวเหมือนไก่เนื้อ จึงเหมาะสำหรับเป็นไก่พื้นเมืองในระบบอุตสาหกรรมในอนาคต

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ไก่ชีท่าพระเป็นไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ ที่ได้มีการพัฒนาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จ.ขอนแก่น โดยเริ่มสร้างฝูงไก่ชีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จนได้พันธุ์แท้ “ไก่ชีท่าพระ” จากขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกตามหลักวิชาการ ฝูงพันธุ์ที่ได้มีลักษณะภายนอกซึ่งได้แก่ รูปร่าง ลักษณะหงอน และสีขนสม่ำเสมอเป็นเอกลักษณ์ ตรงตามลักษณะประจำพันธุ์และสามารถใช้จำแนกพันธุ์ได้ มีลักษณะประจำพันธุ์ทั้งลักษณะทางคุณภาพ (Qualitative traits) และ ลักษณะทางปริมาณ (Quantitative traits) เช่นเดียวกับไก่พันธุ์แท้ต่างๆ ของทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยสามารถแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์ได้ และยังมีศักยภาพการผลิตโดยการเลี้ยงในระบบฟาร์มสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไปกว่า 25 % “ไก่ชีท่าพระ” มีจุดเด่นหลายประเด็น เช่น สามารถเลี้ยงรอดได้ดีในลักษณะการเลี้ยงของเกษตรกรในหมู่บ้าน มีความเป็นแม่ที่ดีสามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกได้เอง ให้จำนวนลูกไก่สูงกว่าไก่พื้นเมืองของเกษตรกรกว่า 30 %

ลักษณะประจำพันธุ์ เพศผู้ มีสร้อยคอสีขาวหรือสีงาช้าง ขนหาง ขนลำตัวสีขาว แข้ง ปาก สีเหลือง ใบหน้าสีแดง หงอนถั่ว ส่วนเพศเมีย มีลักษณะเหมือนเพศผู้แต่ไม่มีขนสร้อยคอ

ส่วนลักษณะทางเศรษฐกิจ คือ เมื่ออายุ 12 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักตัว 1,135 ± 150 กรัม สามารถให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุ 170 วัน และให้ผลผลิตไข่ 125 ฟอง/แม่/ปี

ลักษณะดีเด่น ไก่ชีท่าพระมีลักษณะเด่นที่เป็นไก่ไทยพันธุ์แท้ที่ให้สมรรถภาพการผลิตที่สูงกว่า มีขนสีขาวทั้งตัวเหมือนไก่เนื้อ จึงเหมาะสำหรับเป็นไก่พื้นเมืองในระบบอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะเมื่อผ่านการชำแหละหรือแปรรูปในระบบโรงเชือดขนาดใหญ่ไม่มีปัญหาขนหมุด (Pin feather) สีดำติดที่ผิวหนังของไก่ และแข้งมีสีเหลืองซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้สีขาวของขนทั้งตัวยังเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงไก่สวยงามของไทยอีกด้วย

การใช้ประโยชน์พันธุ์ ไก่ชีท่าพระเป็นไก่พื้นเมืองไทยที่มีศักยภาพและมีคุณค่าการบริโภคที่ดีเด่นกว่าไก่เนื้อมากเมื่อเทียบกันทางการค้า โดยไก่ชีท่าพระมีเนื้อที่แน่นนุ่ม มีโปรตีนสูงกว่า แต่มีไขมันและคอเลสเตอรอลน้อยกว่าถึง 2 เท่า กรมปศุสัตว์จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรได้นำ “ไก่ชีท่าพระ” ไปใช้ประโยชน์ในการการค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ร่วมมือกับ สกว. ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการพัฒนาไก่ชีท่าพระเชิงเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้/รู้จักพันธุ์ไก่ควบคู่กันไปทั้งในระดับเกษตรกรในชุมชนและในระดับผู้บริโภค โดย (1) การนำพันธุ์ไก่ลงสู่ชุมชนในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงไก่ชีท่าพระในพื้นที่ของจังหวัดที่เริ่มมีการรับรู้/รู้จักและต้องการเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ได้แก่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม และเลย (2) ร่วมกับการสร้างการรับรู้ไก่ชีท่าพระเชิงบริโภคในกลุ่มผู้บริโภค/ประชาชน โดยการนำไก่ชีท่าพระภาคอิสานที่นิยมบริโภคไก่เป็นหลัก จะทำให้เกษตรกร และผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้นทั้งการสร้างอาชีพและการบริโภคปรุงเป็นอาหารและการจัดทำเมนูอาหารยอดนิยมคือไก่ชีท่าพระย่างให้ชิมในร้านไก่ย่างที่มีชื่อเสียงของอ.เมือง และอ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนธันวาคม 2555 (3) จัดการชิมไก่ชีท่าพระย่าง ต้มยำในงานเปิดการท่องเที่ยว อ.เชียงคาน จ.เลย (ธ.ค. 55) งานวันเกษตรแห่งชาติภาคอิสาน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ค.56) โดยมุ่งนี้การนำผลงานวิจัยจากหิ้ง......ลงสู่ชุมชน .......เข้าสู่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ ผู้สนใจขอรับข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40260 โทรศัพท์ 043 – 261194

...........................................................................................

ข้อมูล : ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรมปศุสัตว์เตือนโรคในสัตว์ปีก

กรมปศุสัตว์เตือนโรคในสัตว์ปีก (10/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณพรสวรรค์ วิรัตน์เศรษฐสิน   
วันพฤหัสบดีที่ 08 พฤศจิกายน 2012 เวลา 11:00 น.

กรมปศุสัตว์ ขอเตือนให้เกษตรกรหมั่นสังเกตสุขภาพสัตว์ปีก หากพบป่วยตายผิดปกติ ห้าม ขาย จำหน่าย แจก หรือ กิน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที พร้อมแนะให้ทำวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ปีกตามโปรแกรมอย่างเคร่งครัด

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย กลางคืนมีอากาศหนาวเย็น สลับกับมีฝนตกบ้างในบางวัน ส่วนในเวลากลางวันจะมีอากาศร้อนจัด อาจทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย และเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค และการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีก อย่างเช่นโรคหลอดลมอักเสบ โรคไข้หวัดนก และโรคระบาดสัตว์ปีกอื่นๆ เกษตรกรจึงควร หมั่นสังเกตอาการ และสุขภาพของสัตว์ปีก ควรเสริมวิตามิน เกลือแร่ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของสัตว์ปีกให้เหมาะสม เช่น อย่าให้ลมโกรก ให้อยู่ในที่อุณหภูมิพอเหมาะ จัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝน ลมและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอีกด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก www.dld.go.th/birdflu และต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ ( Biosecurity) ในการป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม เช่น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคนหรือยานพาหนะเข้า – ออกฟาร์ม การมีเล้าหรือโรงเรือนเพื่อป้องกันพาหะนำโรค เป็นต้น และให้ทำวัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด

ประกอบกับในช่วงนี้เริ่มมีนกอพยพเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรค ทั้งอาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้คำแนะนำประชาชน เกษตรกร โรงเรียน และวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ อย่านำสัตว์ปีกไปแจก ขาย หรือประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ในพื้นที่ทันที หรือ call center โทร 085-660-9906 เพื่อจะได้ดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างทันท่วงที

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ข้อมูล/ข่าว : ส่วนโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรให้ผลิตหญ้าแดดเดียว

กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรให้ผลิตหญ้าแดดเดียว(9/2556) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณพรสวรรค์ วิรัตน์เศรษฐสิน   
วันพุธที่ 07 พฤศจิกายน 2012 เวลา 14:34 น.
นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำให้เกษตรกรผลิตหญ้าแดดเดียวเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งสัตว์ชอบกิน มีกลิ่นหอม คุณภาพดี และยังสามารถส่งขายในตลาดสัตว์เล็กได้อีกด้วย

การผลิตหญ้าแดดเดียวเป็นเทคนิคใหม่ในการทำหญ้าแห้ง จากเดิมที่ตัดหญ้าและตากในแปลงใช้ระยะเวลา 3-5 วัน เทคนิคนี้ใช้เวลาตัดและตากให้แห้งในแปลงเพียง 1 วัน เท่านั้น แต่การจะทำหญ้าแดดเดียวให้สำเร็จได้ ประกอบด้วยปัจจัย ดังนี้
1.  พันธุ์หญ้าที่ใช้ควรเป็นพันธุ์หญ้าที่มีลำต้นเล็ก เช่น หญ้าแพงโกล่า
2. หญ้าที่ตัดมีอายุระหว่าง 30-45 วัน
3. พื้นดินต้องแห้ง ฝนไม่ตก หรือหยุดการให้น้ำ มีแสงแดดจัดท้องฟ้าแจ่มใสหรือลมแรง
4. ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมคือเดือนธันวาคม-เมษายน

อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร
1. รายใหญ่ไม่ควรตัดเกิน 10 ไร่/วัน
- เครื่องตัดหญ้าชนิดติดท้ายรถฟาร์มแทรกเตอร์ซึ่งใช้เวลาตัดไม่เกิน 2 ชม.
- เครื่องกระจายหญ้าแบบสะบัดผึ่ง ให้หญ้าโดนแดด และลมอย่างทั่วถึง ประมาณ 5-7 รอบ เป็นหัวใจสำคัญของการทำหญ้าแห้งแดดเดียว
- เกลี่ยรวมกองและอัดเสร็จในวันเดียวกัน
- ระยะเวลา 6 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น
2. เกษตรกรรายย่อย ไม่ควรตัดเกิน 1 ไร่
- เครื่องตัดแบบสะพายไหล่หรือเครื่องตัดชนิดเดินตาม
- เกลี่ยกระจายด้วยคลาดกลับหญ้าบ่อยๆให้ทุกส่วน โดนแดดและลม วันละ 5-7 รอบ
- เมื่อแห้งสนิทแล้วมัดเก็บด้วยเชือก

ข้อดีของการทำหญ้าแดดเดียว คือ จะทำให้หญ้ามีสีเขียว กลิ่นหอม สัตว์ชอบกิน หญ้าคุณภาพดี ไม่สูญเสียธาตุอาหาร ที่สำคัญยังเป็นที่ต้องการของตลาดของสัตว์เล็ก เช่น หนู กระต่าย อีกมาก ส่วนข้อจำกัดในการผลิตหญ้าแดดเดียว คือ ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน อาจเกิดเชื้อรา เนื่องจากยังมีความชื้นอยู่ได้ และไม่ควรจัดเก็บโดยวิธีกองเรียงกันสูงเกินไป เพราะอาจเกิดความร้อนหรือการสันดาป ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ดังนั้นเกษตรกร จึงต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ และระมัดระวัง เรื่องการระบายความร้อนของสถานที่จัดเก็บอย่างดีด้วย รองอธิบดีกล่าว.

......................................................................................

ข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์