▼
วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556
วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556
กรมปศุสัตว์ยืนยันยังไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
กรมปศุสัตว์ยืนยันยังไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย |
เขียนโดย คุณพรสวรรค์ วิรัตน์เศรษฐสิน |
วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2013 เวลา 11:00 น. |
นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ว่า พนักงานอาคารซีพีทาวเวอร์ ป่วยเป็นไข้หวัดนกนั้นจากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดพนักงานไม่ได้ลาป่วยมากกว่าปกติ คนที่ลาป่วยเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 โดยกระทรวงสาธารณสุข
ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ไปสอบสวนโรคไม่พบว่าการป่วยนั้นมีอาการเข้าได้กับไข้หวัดนกแต่อย่างใด กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดรวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะเข้า-ออก ได้แก่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันทีและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก
จากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ตามโครงการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกแบบบูรณาการของประเทศไทย2 ครั้งที่ผ่านมาในเดือนมกราคม 2556 และ กรกฎาคม2556 เก็บตัวอย่างในสัตว์ปีกที่เลี้ยงปล่อยบริเวณบ้านในพื้นที่เสี่ยง และเป็ดไล่ทุ่ง จำนวนทั้งสิ้น 35,003 ตัวอย่าง ให้ผลเป็นลบทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นและยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันโรค กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดให้ดำเนินกิจกรรมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยสั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ จัดเจ้าหน้าที่และเครือข่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกหลังคาเรือน และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดนในรัศมี 10 กิโลเมตร โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556–กุมภาพันธ์ 2557หากพบว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติสงสัยโรคไข้หวัดนกให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอและสาธารณสุขอำเภอ เพื่อดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวัง และควบคุมโรคตามที่กำหนดไว้ต่อไป
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายนอกและภายในตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่โทร 0-8566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้ทำการฝังหรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก www.dld.go.th/dcontrol อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
|
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ฉีดวัคซินป้องกันไข้หวัดใหญ่
ฉีดวัคซินป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีที่ 5 ทีมงานป้องกันและกำจัดโรคไข้หวัดนกอำเภอฝาง โดยฝ่ายสาธารณสุขโรงพยาบาลฝาง
วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ประชุมทบทวนบันทึกข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และขึ้นทะเบียนสุนัข - แมว
วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
วงจรชีวิตของเห็บ (บทความ...../2556)
วงจรชีวิตของเห็บ (บทความ...../2556) |
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช |
วันพุธที่ 17 เมษายน 2013 เวลา 11:57 น. |
เห็บสุนัข มี ลักษณะแตกต่างจากแมลงโดยทั่วไป คือเห็บเต็มวัยมี 8 ขา เห็บจะไม่มีหัวมีแต่ส่วนที่เป็นปากยื่นออกมาให้เห็นเท่านั้น ขนาดของเห็บโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เห็บจะใช้ส่วนปากของมันแทงเข้าใต้ผิวหนังและเกาะติดแน่นบนตัวสุนัขแล้วดูดกินเลือดเป็นอาหาร เห็บตัวเมียซึ่งได้รับการผสมพันธุ์จากเห็บตัวผู้บนตัวสุนัข แล้วจะดูดเลือดจนตัวเป่งจนขยายตัวเต็มที่อาจมีขนาดถึง 12 มิลลิเมตร มองดูคล้ายเมล็ดลูกหยี เมื่อมันจะวางไข่ มันจะถอนส่วนปากออกจากผิวหนัง หล่นจากตัวสุนัขแล้วไปหาที่วางไข่ หลังจากตัวเมียวางไข่แล้วก็จะแห้งตาย และก่อนที่เห็บจะออกจากตัวสุนัขทุกครั้งเห็บจะดูดกินเลือดจนตัวเป่งเต็มที่ก่อนเสมอ เห็บมีวงจรชีวิต 4 ระยะ ระยะแรกคือไข่ ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียวซึ่งจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน ไข่ทั้งหมดจะรวมอยู่กันเป็นกอง ๆ ประมาณ 2,000 ถึง 4,000 ฟอง จากนั้นตัวอ่อนจะมีการออกจากตัวสุนัข 3 ครั้ง เพื่อลอกคราบ โดยสามารถอาศัยอยู่ตามพื้นบ้าน ผนัง มุมกรงสุนัข ตลอดจนสนามหญ้าที่สุนัขเดินผ่าน แล้วลงมาวางไข่นอกตัวสุนัข ไข่ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะมีเพียง 6 ขาเท่านั้น เคลื่อนที่ได้ไวมาก ตัวอ่อนนี้จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขอย่างน้อย 2 -3 วัน เมื่ออิ่มแล้วจะหล่นจากตัวสุนัข ไปหาที่ลอกคราบ กลายเป็นตัวกลางวัย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนอย่างเห็นได้ชัดและมี 8 ขา ตัวกลางวัยนี้จะกินเลือดบนตัวสุนัขอีก และจะหล่นลงสู่พื้นเมื่อกินอิ่มแล้วเช่นกัน จากนั้นจะลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะต้องขึ้นบนตัวสุนัขอีกเพื่อดูดเลือดและผสมพันธุ์ต่อไป วงจรชีวิตของเห็บชนิดนี้จะ สมบูรณ์ได้ในเวลา ประมาณ 45-50 วัน แล้วแต่อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เห็บแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก ถ้าเจ้าของสุนัข ไม่เอาใจใส่สุนัข ปล่อยให้มีเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายในบ้าน จะพบเห็บในปริมาณมากจนน่าตกใจ สุนัขอาจตายจากเห็บ จาการเสียเลือดทำให้ผอม และอ่อนเพลียแล้ว เห็บยังสามารถนำโรคร้ายแรง อื่นๆ มาให้สุนัขอีกด้วย คนส่วนใหญ่เมื่อจับเห็บจากตัวสุนัขได้มักจะชอบบี้ให้ตาย นั่นจะเป็นการทำให้ไข่ของเห็บแพร่กระจายได้รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ปัญหาและอันตรายที่เกิดจากเห็บ 1. สูญเสียเลือดอย่างเรื้อรัง และเกิดสภาวะโลหิตจางเนื่องจากทุกระยะของเห็บยกเว้นไข่จะดูดกินเลือดสุนัขนั่นเอง 2. เกิดบาดแผลบนผิวหนังของสุนัข ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สภาวะผิวหนังติดเชื้อเป็นหนอง 3. ก่อให้เกิดความรำคาญและอาการคัน เนื่องจากน้ำลายเห็บ ทำให้สุนัขเกาและเกิดแผลตามมาได้ 4. การติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด 4.1 โรคไข้เห็บ (Babesiosis) 4.2 Ehrlichiosis 4.3 Hepatozoonosis 5. ทำให้เกิดอัมพาตเนื่องจากเห็บ (Ticks paralysis) -2- การควบคุมและกำจัด 1. การควบคุมโดยการใช้สารเคมี 2. การควบคุมโดยชีววิธี 3. การควบคุมแบบผสมผสาน 4. การควบคุมโดยการใช้วัคซีน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการควบคุมโดยการใช้สารเคมีเท่านั้น เนื่องจากอีก 3 วิธีที่เหลือยังไม่เป็นที่นิยมและอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง รูปแบบของการใช้สารเคมีในการกำจัดเห็บ 1. แชมพูกำจัดเห็บหมัด ประกอบไปด้วย แชมพูฟอกและทำความสะอาดตัวสุนัข ซึ่งจะมีส่วนของสารเคมีหรือสารสกัดจากธรรมชาติที่มีผลในการกำจัดเห็บหมัด ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เห็บหลุดจากตัวสุนัขชั่วคราว การอาบต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนล้างออก 2. แป้งโรยตัว ซึ่งผู้ผลิตมักแนะนำให้โรยตัวหลังอาบน้ำ แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะโรยตัวก่อนการอาบน้ำมากกว่า เพื่อขจัดสารเคมีออกจากตัวสุนัขก่อนที่สุนัขจะเลียแล้วก่อให้เกิดความเป็นพิษได้ 3. สเปรย์ ใช้สารเคมีเจือจางพ่นลงบนตัวสุนัขโดยเฉพาะบริเวณที่เห็บเกาะ มีผลทำให้เห็บตายได้ 4. สารเคมีเข้มข้นชนิดผงหรือสารละลาย ที่ใช้ผสมน้ำเพื่อราดตัว จุ่มตัว หรืออาบตัวสุนัขเพื่อฆ่าเห็บและหมัด เหา สุนัขได้ 5. กลุ่มเวชภัณฑ์ชนิดฉีด มีฤทธิ์ทำให้เห็บเกิดอัมพาตจนตายได้ 6. กลุ่มสารเคมีหยดผิวหนัง (Spot on) สารเคมีจะคงตัวอยู่ในชั้นไขมันใต้ผิวหนังในช่วงเวลาหนึ่ง มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บหมัด 7. ปลอกคอกันเห็บหมัด (Collars) วิธีการควบคุมเห็บที่ถูกต้อง เพื่อให้การควบคุมเห็บมีประสิทธิภาพสูง จำเป็นต้องมีการควบคุมเห็บพร้อมกันทั้ง 2 ส่วน คือ 1. การควบคุมบนตัวสุนัข 2. การควบคุมภายนอกตัวสุนัข หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย โดยการพ่นสารเคมีกำจัดเห็บตามบริเวณซอกกรง บริเวณที่สุนัขนอน สนามหญ้า โดยใช้เครื่องสเปรย์คันโยกหรือฝักบัวรดน้ำต้นไม้ หลักในการควบคุมเห็บสุนัขให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ อาจสรุปได้ดังนี้ 1. เลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง และเห็บไม่ดื้อต่อสารชนิดนั้น 2. มีการควบคุมเห็บทั้งบนตัวสุนัขและภายนอกตัวสุนัข 3. เลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ 4. ใช้สารเคมีในขนาดที่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในฉลากกำกับสารเคมี 5. ทำการควบคุมเห็บในสุนัขทุกตัวที่เลี้ยงอยู่รวมกัน หรือใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ 6. สามารถใช้รูปแบบการควบคุมเห็บบนตัวสุนัขได้มากกว่า 1 วิธี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คัดลอก ดัดแปลง และเรียบเรียงจากเอกสารการประกวดสุนัข 2545 “เห็บสุนัขและการควบคุม” ของ รศ. น.สพ. ดร.อาคม สังข์วรานนท์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ -------------------------------------------- ข้อมูล/ภาพประกอบ : สพ.ญ.ปราณี พาณิชย์พงษ์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เผยแพร่ : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ |
วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556
วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556
กรมปศุสัตว์สั่งทุกด่านชายแดนเข้ม สกัดกั้นโรคไข้หวัดนกเข้าประเทศไทย
กรมปศุสัตว์สั่งทุกด่านชายแดนเข้ม สกัดกั้นโรคไข้หวัดนกเข้าประเทศไทย |
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช |
วันจันทร์ที่ 04 มีนาคม 2013 เวลา 09:01 น. |
อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ทุกด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ ตรวจสอบทุกด่านชายแดนป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์ปีกเข้มงวดกว่าเดิม หวังสกัดกั้นไม่ให้โรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะด่านอรัญประเทศ ที่ติดกับประเทศกัมพูชา หลังพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกในกัมพูชาเพิ่มอีก 1 ราย นับเป็นรายที่ 9 ของปีนี้ นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันที และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออก ประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ในกัมพูชาอาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้ทางนกอพยพ หรือนกธรรมชาติที่บินเข้ามาสู่ประเทศไทย และการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้ามาตามบริเวณแนวชายแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกจะเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที กรมปศุสัตว์ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั่วโลก (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จนถึง 2 มีนาคม 2556) มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเทศบังคลาเทศ เม็กซิโก เนปาล ภูฐาน และกัมพูชา โดยเฉพาะประเทศกัมพูชาซึ่งมีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (Highly pathogenic avian influenza virus: H5N1) ในฟาร์มสัตว์ปีก ขึ้น 3 จุด รายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 ในพื้นที่เมือง Prey Kambas จังหวัด TAKEO ซึ่งตั้งอยู่ติดกับกรุงพนมเปญและประเทศเวียดนาม มีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้วกว่า 4,000 ตัว โดยครั้งล่าสุด จำนวน 2 จุด รายงานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 พบในสัตว์ปีกที่เลี้ยงหลังบ้าน ที่จังหวัด Kampong cham และ จังหวัด Kampot ทำลายสัตว์ปีกไปแล้วกว่า 3,500 ตัว และจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาตั้งแต่ต้นปี 2546 ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดนก H5N1 จำนวน 30 ราย เสียชีวิตแล้ว 27 ราย ซึ่งรายล่าสุดรายงานเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 นับเป็นรายที่ 9 ที่เสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา -------------------------------------------- ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ |
วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่สุ่มตรวจความปลอดภัยสินค้าเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่สุ่มตรวจความปลอดภัยสินค้าเกษตร(40/2556) |
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช |
วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 09:57 น. |
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สุ่มตรวจความปลอดภัยสินค้าเกษตร ตามแนวการดำเนินการกำกับดูแลอาหารปลอดภัย สินค้าเกษตรภายในประเทศ ณ ตลาดไท อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมหน่วยเฉพาะกิจตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อหน้าอกไก่ ตับไก่ เนื้อวัว เนื้อสุกร จากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์จากตลาดไท และห้างแม็คโคร ปทุมธานี เพื่อตรวจสอบหาเชื้อจุลินทรีย์ และตรวจหาการปนเปื้อนยาสัตว์ต้องห้าม เช่น สารเร่งเนื้อแดง (Beta-agonist) ยากลุ่มไนโตรฟูแรนส์ (Nitrofurans, NFS) คลอแรมเฟนนิคอล (Chloramphenicol, CAP) ในตัวอย่างเนื้อสัตว์ การตรวจคุณภาพสินค้าปศุสัตว์เป็นขั้นตอนที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ น้ำนม ไข่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อื่นๆ โดยกรมปศุสัตว์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มเก็บตัวอย่างตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่า สถานที่ชำแหละ จนถึงสถานจำหน่าย มาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าปศุสัตว์ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ โดยหากพบสารต้องห้ามในสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทันที ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือหากพบเห็นการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ หรือสารต้องห้ามเลี้ยงปศุสัตว์อื่น รวมทั้งการลักลอบนำเข้า และซื้อ-ขายสารดังกล่าว ให้แจ้งเบาะแสได้ที่ กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4555 ในวัน และเวลาราชการ โดยทางกรมปศุสัตว์จะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งไว้เป็นความลับ ซึ่งหากรายใดศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับแล้ว ผู้แจ้งจะได้รับรางวัลสินบนนำจับด้วย เนื่องจากการใช้สารต้องห้ามผสมอาหารเลี้ยงสัตว์อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และเป็นการทรมานสัตว์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ Food Safety ของรัฐบาล และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าของประเทศไทยอีกด้วย ................................................................... ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ |
วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556
กรมปศุสัตว์พร้อมป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสุกรและสัตว์ปีก
กรมปศุสัตว์พร้อมป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสุกรและสัตว์ปีก(27/2556) |
เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช |
วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2013 เวลา 10:16 น. |
กรมปศุสัตว์ จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานทางคลินิกของโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เป็นไข้หวัดงดสัมผัสสัตว์ และเฝ้าระวังสุกร และสัตว์ปีก หากพบสัตว์แสดงอาการผิดปกติ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หอบ มีน้ำมูก หรือ แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน ว่าพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H3N2 ครั้งรุนแรงในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 20 ราย และมีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างคนและสัตว์ และเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้เฝ้าระวัง และติดตามการเกิดโรคสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานทางคลินิกของโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เพื่อกำหนดแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ภายในฟาร์มสุกร นอกจากนี้ยังได้สั่งการไปยังปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้ประชาสัมพันธ์เกษตรกรรายย่อยได้ระมัดระวังมากขึ้น เช่น ไม่ให้ผู้ที่มีอาการป่วย เป็นไข้หวัด เช่น ไอ หรือจาม หลีกเลี่ยงเข้าฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกร และสัตว์ปีก โดยเด็ดขาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างคนและสัตว์ รวมทั้งเร่งดำเนินการปรับระบบการเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก ของเกษตรกรรายย่อยเพื่อไม่ให้เลี้ยงสุกรหรือสัตว์ปีกปะปนกับสัตว์ชนิดอื่น และรณรงค์ทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในสถานที่เลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ จากมาตรการที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการมาแล้วนั้น จึงถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสัตว์สู่คน และจากคนสู่สัตว์ ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เน้นย้ำให้เกษตรกรรักษาสุขภาพ หากมีอาการป่วยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ และหากพบสัตว์แสดงอาการผิดปกติ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หอบ มีน้ำมูก หรือ แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 085-6609906. ...................................... ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ |