วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนู (139/2555)

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนู (139/2555) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย คุณพรสวรรค์ วิรัตน์เศรษฐสิน   
วันอังคารที่ 25 กันยายน 2012 เวลา 14:10 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนู เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งพบได้ตลอดปีในทุกภาค เชื้อโรคเข้าทางแผลหรือไชผ่านผิวหนังได้ เตือนผู้มีแผลที่เท้าต้องระวัง  การป้องกันให้สวมรองเท้าบู๊ทหากต้องลุยย่ำโคลน

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู โรคนี้พบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงกรกฎาคม-ตุลาคมทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลทำนา มีฝนตก น้ำขังเฉอะแฉะ โรคนี้มีสาเหตุมาจากหนู โดยเชื้อโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังชื้นแฉะทั่วไป โดยติดเชื้อขณะทำนา ทำสวน ระหว่างการจับปลา จับหนูในนา

เชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป  และเชื้อไชเข้าทางรอยแผล รอยขีดข่วน หรือผ่านผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ ซึ่งผิวจะอ่อนนุ่ม  เชื้อชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน  โดยทั่วไปมักติดเชื้อขณะเดินย่ำดินโคลน เดินลุยน้ำท่วม หลังติดเชื้อประมาณ 4-11 วัน จะเริ่มมีอาการ โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดน่อง หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นเช่น ไอเป็นเลือด ตัวเหลือง อาจเสียชีวิตจากไตวาย ตับวายได้ 

การป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ  หากจำเป็นต้องลุยน้ำต้องสวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล  ผู้ที่ต้องทำงานในที่ชื้นแฉะตามไร่นาหลังจากเสร็จภารกิจแล้วให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด  เช็ดตัวให้แห้ง  ในการบริโภคน้ำบ่อควรต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ  ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ปิดอาหารให้มิดชิดป้องกันไม่ให้หนูปัสสาวะรดอาหาร อาหารที่ค้างคืนให้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่บริโภคหนู ควรระมัดระวังการติดเชื้อ ให้สวมถุงมือขณะชำแหละและปรุงให้สุก  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.

……………………………………………………………………………….

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

 

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

กรมปศุสัตว์คุมโรคไข้หวัดนกเข้ม ต้องไม่มีสัตว์ปีกลักลอบเข้าประเทศไทย

เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันอังคารที่ 11 กันยายน 2012 เวลา 14:32 น.
กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกเข้ม เพื่อไม่ให้เกิดโรคในประเทศไทย พร้อมปฏิบัติร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระ ซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติทั่วประเทศประสานทุกหน่วยงานด่านชายแดนเข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ
          นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากที่มีข่าวการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยนั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระ และซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์การเกิดโรคระบาดในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกัน และควบคุม ไม่ให้เกิดโรคในประเทศไทยได้
          สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มากกว่า 40 ครั้ง ทำลายสัตว์ปีกไปกว่า 1.8 แสนตัว และจากรายงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันโรคไข้หวัดนกแห่งชาติของเวียดนาม พบว่าสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก H5N1การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการระบาดที่รุนแรงขึ้น และเป็นไปได้ว่าเชื้อโรคดังกล่าวได้แพร่ระบาดมาจากประเทศจีน โดยมีรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2555 เกิดการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 ขึ้น 3 จุด ในพื้นที่ตำบล Lien Loc และ Hoa Loc ของเมือง Thanh hoa และตำบล Hauh Thuan ของเมือง Quang ngai ทางตอนเหนือของประเทศติดต่อกับประเทศจีน และตอนกลางของประเทศ
          อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในเวียดนาม อาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้ทางนกอพยพ หรือนกธรรมชาติที่บินเข้ามาสู่ประเทศไทย และการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้ามาตามบริเวณแนวชายแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกจะเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที และได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันที
          อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรม ดังนี้
         1) กำหนดให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการ ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกครัวเรือน พร้อมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระสัตว์ปีก (cloacal swab) ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
         2) กำหนดให้มีการทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคมของทุกปี โดยเน้นพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพ นกธรรมชาติอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน โรงฆ่าสัตว์ปีก เป็นต้น
         3) ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกระหว่างจังหวัดและระหว่างโซน ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 5 โซน มีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด
         4) พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในรูปแบบฟาร์มปิดและฟาร์มมาตรฐาน ฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         5) ปรับระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและสัตว์ปีกที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน (back yard) ให้มีเล้าหรือโรงเรือนที่สามารถป้องกันแดด ลม ฝน และพาหะนำเชื้อโรคระบาดได้
         6) ขึ้นทะเบียนเป็ดไล่ทุ่งและจำกัดพื้นที่การเลี้ยงให้อยู่ภายในตำบลหรืออำเภอเดียว พร้อมทั้งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระตรวจทุกฝูง ปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์ม
         7) ประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกอพยพและนกธรรมชาติ และเก็บตัวอย่างอุจจาระ ซาก ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในแหล่งสร้างรังวางไข่ (colony) ปีละ 4 ครั้ง นอกจากนี้มีการสำรวจเส้นทางบินของนกเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนเฝ้าระวังโรค
         8) ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกร่วมกัน
         สำหรับการติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคม – ปัจจุบัน (11 กันยายน 2555) พบว่า ในสัตว์ปีกเกิดในประเทศจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เวียดนาม บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย ภูฏาน แอฟริกาใต้ ไต้หวัน อิสราแอล เม็กซิโก เมียนมาร์ กัมพูชา อียิปต์ และอินโดนีเซีย ส่วนในคนพบในประเทศอียิปต์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา บังคลาเทศ และจีน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เฝ้าติดตามการเกิดโรคระบาดในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกัน และควบคุม ไม่ให้เกิดโรคในประเทศไทยได้
……………………………………………………….
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

กรมปศุสัตว์กับการเป็นผู้นำด้านพัฒนาพันธุ์สัตว์ สู่ AEC

เขียนโดย คุณมณฑิชา นาควานิช   
วันพฤหัสบดีที่ 06 กันยายน 2012 เวลา 13:55 น.
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เน้นพัฒนาปศุสัตว์ต้นพันธุ์ดี ให้มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และสนับสนุนเกษตรกรสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อก้าวเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์ในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
                นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรีแล้ว ในด้านเกษตรกรไทยต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เข้าสู่ระบบ GAP (Good Agricultural Practice) และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต รวมกลุ่มเพื่อใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน ผลิตสินค้าที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะและหลากหลาย โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์เองได้เน้นด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่เกษตรกรและพัฒนาสัตว์พันธุ์ดี นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่สากล สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรอีกด้วย
                ความก้าวหน้าด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าทางด้านการเลี้ยงสัตว์ในทุกชนิดเชิงการค้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากที่ผ่านเราได้มีการเตรียมความพร้อมโดยสนับสนุนให้มีเกษตรกรและนักวิชาการที่ชำนาญการเลี้ยงสัตว์ มีฐานพันธุกรรมสัตว์ดี ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์จนสามารถปรับตัวเข้าสู่สภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบอาเซียนได้เป็นอย่างดี จนทำให้ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AEC สนใจนำเข้าสัตว์พันธุ์ดีจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อการปรับปรุงพันธุ์และเพื่อการบริโภคได้อย่างเสรี ส่งผลให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงสัตว์ทั้งเพื่อการบริโภค และเพื่อการส่งออกมากขึ้น
                สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ มีบทบาท และภารกิจในด้านการพัฒนาศักยภาพของการผลิตสัตว์ให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ ได้รับใบรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้นพันธุ์ดี ให้มีการผลิตปศุสัตว์พันธุ์ดี เป็นฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปศุสัตว์ต้นแบบ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อการศึกษาดูงานของประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็น focal Point ของกรมปศุสัตว์ในการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานการผลิตที่ดี ร่วมกับ สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตปศุสัตว์ที่มีความสำคัญทางการค้ามีศักยภาพทางการค้า เพื่อผลักดันให้เป็นมาตรฐานอาเซียน ในการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตเดียวกันโดยยึดหลักให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล อีกทั้งพัฒนาฟาร์มเครือข่ายปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เครือข่ายการผลิตสัตว์ เครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ให้มีการดูแลสัตว์ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการผลิตสัตว์ที่ดี ให้มีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และร่วมวิเคราะห์ข้อมูลกับกรมปศุสัตว์ ขยายเครือข่ายความร่วมมือการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และรับรองพันธุ์สัตว์ในระดับภูมิภาค และสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนา คือการมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นเครือมือใน การตัดสินใจ จึงมีการเร่งด้านการพัฒนาฐานข้อมูลปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขันด้านการปับปรุงพันธุ์สัตว์ พัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนและรับรองพันธุ์สัตว์ของประเทศ เพื่อรับรองพันธุ์สัตว์ รับรองระดับสายเลือด รับรองพันธุ์ประวัติ และรับรองลักษณะและพันธุกรรมด้านผลผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สัตว์พันธุ์ของประเทศไทย
                การพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานและเพิ่มความเข้มแข็งของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ ให้สามารถรองรับการศึกษาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ สร้างพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์พื้นเมือง วิจัยต่อยอดการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เหมาะสม สำหรับใช้ในประเทศและการส่งออกสู่ประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วิจัยการผลิตสัตว์ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำเสียจากฟาร์มหรือบริการจัดการของเสียให้เป็นพลังงานชีวภาพ ทั้งนี้ เกษตรกรไทยต้องพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย ของสินค้าปศุสัตว์ในระดับต้นน้ำ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ จึงต้องพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติทางการผลิตสัตว์ที่ดี เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการผลิตสัตว์ และผลักดันให้เป็นมาตรฐานอาเซียน พัฒนาฟาร์มเครือข่าย จัดทำฐานข้อมูลปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียน และรับรองพันธุ์สัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าปศุสัตว์ ให้เกิดความแตกต่างในกลุ่มผลิตและตลาดต่อไป
.................................................................................
ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ กรมปศุสัตว์